วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

รหัสบาร์โค้ด หมายถึง รหัสภาษาที่มีลักษณะเป็นขีดหรือแท่งสีดำ


การทำงานของเครื่องพิมพ์บาร์โค้ด

รหัสบาร์โค้ด หมายถึง รหัสภาษาที่มีลักษณะเป็นขีดหรือแท่งสีดำ ซึ่งมีความหนาบาง สูงต่ำลดหลั่นเรียงกันเป็นแถบขนาดเล็ก และด้วยความสามารถในการบันทึกข้อมูลโดยใช้พื้นที่อันกะทัดรัดนี้เอง จึงทำให้รหัสบาร์โค้ดได้รับความนิยมในการนำมาใช้ควบคู่กับกิจการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้า ร้านเช่าหนังสือ ร้านอาหารหรือแม้แต่สำนักงานโดยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากรหัสบาร์โค้ดก็จำเป็นจะต้องศึกษาถึงลักษณะและขั้นตอนในการทำงาน รวมถึงรู้จักกับอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ โดยในขั้นแรกนั้นก็คงจะต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจพื้นฐานของการพิมพ์บาร์โค้ด ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การสร้างบาร์โค้ด และ 2) การพิมพ์บาร์โค้ด ขอเชิญไปรับชมกันเลยครับ

1) การสร้างบาร์โค้ด หมายถึง การแปลงข้อมูลต่าง ๆ และบันทึกให้อยู่ในรูปแบบของรหัสบาร์โค้ด สามารถทำได้โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีให้เลือกใช้หลากหลายโปรแกรม ทั้งที่เปิดให้ดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรีหรือแบบที่มีค่าลิขสิทธิ์ (โดยปกติจะมีโปรแกรมแถมมาพร้อมกันกับเครื่องพิมพ์บาร์โค้ด) ส่วนการใช้งานแต่ละโปรแกรมนั้น อาจมีรายละเอียด ตลอดจนระดับความซับซ่อนแตกต่างกันไป ผู้ใช้จึงควรศึกษาและเลือกใช้โปรแกรมให้มีความเหมาะสมกับงาน

2) การพิมพ์บาร์โค้ด หมายถึง การพิมพ์รหัสบาร์โค้ดที่ได้สร้างไว้ในขั้นตอนข้างต้น เพื่อให้ออกมาในรูปของสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ลงบนแผ่นกระดาษ เช่น บิลการชำระเงินหรือสลิปข้อมูลรายการสินค้า พิมพ์ลงบนหน้าบัตรหรือการ์ดพลาสติก เช่น บัตรสมาชิก พิมพ์ลงบนสติกเกอร์บาร์โค้ด เพื่อแปะลงบนบรรจุภัณฑ์ของสินค้า หรือแม้แต่การพิมพ์ลงบนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าโดยตรง เพียงเท่านี้ก็นับว่าเสร็จสิ้นขั้นตอนการพิมพ์บาร์โค้ดและพร้อมต่อการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากบาร์โค้ดก็ยังจำเป็นที่จะต้องอาศัยเครื่องอ่านบาร์โค้ดมาเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ควบคู่กันไปด้วย โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการถอดรหัสบาร์โค้ดและแปลงกลับมาเป็นข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสินค้า ข้อมูลบัตรสมาชิก ข้อมูลการชำระเงินหรือข้อมูลอื่นใดก็ตามที่ผู้ใช้ได้บันทึกไว้ในรูปของแถบรหัสบาร์โค้ด ทั้งนี้ เครื่องอ่านบาร์โค้ดอาจมีลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยมสำหรับตั้งบนโต๊ะทำงาน เคาน์เตอร์ให้บริการ มีด้ามจับสำหรับนำไปใช้อ่านสติกเกอร์บาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ของสินค้า หรืออาจเป็นกล่องขนาดเล็กสำหรับติดผนัง ขึ้นอยู่กับลักษณะของการใช้งาน



หลังจากที่ได้เข้าใจถึงลักษณะการทำงานของเครื่องพิมพ์บาร์โค้ดกันไปแล้ว หลายท่านก็อาจเริ่มมีแนวคิดที่จะลองนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้ในกิจการของท่าน สิ่งที่จะต้องฝากไว้ในท้ายที่สุดนี้ จึงขอให้ทุกท่านพยายามศึกษาข้อมูล ทั้งในส่วนของตัวอุปกรณ์ รวมถึงโปรแกรมการทำงานเพื่อที่จะสามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมและตอบโจทย์ที่ต้องการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น